ไหว้พระขอพร 9 วัดนามมงคล เสริมดวง เสริมสร้างบารมี กับวัดเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่

1.วัดเชียงมั่น

กราบไหว้ เพื่อ '' ชีวิตมั่นคง ''

เป็นวัดแรกที่สร้างขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1840 ศิลาจารึกวัดเชียงมั่นกล่าวว่า หลังจากที่พญางำเมือง พญาร่วง และพญามังราย สร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ทั้งสามพระองค์ทรงโปรดให้ก่อเจดีย์ที่หอนอนบ้านเชียงมั่น ซึ่งใช้เป็นที่ประทับชั่วคราวเพื่อควบคุมการสร้างเมืองเชียงใหม่ ต่อมาพระองค์ทรงยกพระตำหนักที่ประทับถวายเป็นพระอาราม ให้ชื่อว่า "วัดเชียงมั่น" เป็นที่ประดิษฐานพระเสตังคมณีหรือพระแก้วขาว พระพุทธรูปแก้วผลึกสีขาวปางมารวิชัย เป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่

2.วัดเชียงยืน

กราบไหว้ เพื่อ '' ชีวิตยั่งยืน ''

เป็นวัดโบราณแห่งหนึ่งซึ่งมีโบสถ์แปดเหลี่ยมที่เก่าแก่ด้วยรูปแบบศิลปะพม่า แม้ตัวโบสถ์จะทรุดโทรมตามกาลเวลา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปพม่า ห้ามผู้หญิงเข้าตามความเชื่อของชาวล้านนา ที่มีความเชื่อว่าสถานที่ประกอบ พิธีทางศาสนาหรือพิธีสำคัญ ๆ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องการความสะอาดบริสุทธิ์ ตำนานกล่าวไว้ว่าหากกษัตริย์องค์ใดจะขึ้นครองราชย์ต้องมานมัสการพระประธานที่วัดนี้ก่อนจนเป็นธรรมเนียมประเพณี แต่ก็ยกเลิกไปเมื่อครั้งเชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า

3.วัดดวงดี

กราบไหว้ เพื่อ '' ดวงดี ''

วัดดวงดี เดิมชื่อ "วัดต้นหมากเหนือ" ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว และมีเจ้านายเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่งเป็นผู้คิดค้นการสร้าง ลักษณะของวิหารและโบสถ์เป็นแบบพื้นเมืองล้านนา มีลวดลายแกะสลักไม้ประดับสถาปัตยกรรมที่สวยงาม

4.วัดดับภัย

กราบไหว้ เพื่อ '' พ้นภัย ''

วัดดับภัย เดิมชื่อ "วัดอภัย" หรือ "วัดตุงกระด้าง" มีตำนานเล่าว่า เมื่อพญาอภัยล้มป่วยทำการรักษาอย่างไรก็ไม่ทุเลา จึงตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าหลวงพ่อดับภัย อาการเจ็บป่วยก็หายไปพลัน พญาอภัยจึงให้บริวารลูกหลานตั้งบ้านเรือนบริเวณวัดและบูรณะปฏิสังขรณ์ จึงเรียกชื่อใหม่ว่า วัดดับภัย เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองล้านนา วัดแห่งนี้มีบ่อน้ำอยู่หน้าวิหาร เชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ สมัยพระเจ้าอินทวโรรส เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 8 เสด็จกลับจากกรุงเทพฯ ต้องแวะมาวัดดับภัยเพื่อนำน้ำในบ่อนี้ไปสรงน้ำพระพุทธมนต์ ก่อนแวะไปวัดเชียงยืนเพื่อสืบดวงชะตา

5. วัดหมื่นเงินกอง

กราบไหว้ เพื่อ '' มีเงินเป็นหมื่นเป็นกอง ''

วัดหมื่นเงินกอง เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์มังราย เป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองล้านนา ในย่านสามล้านอันเป็นที่พักขุนนางชั้นสูง หมื่นเงินกอง เป็นชื่อของอำมาตย์ท่านหนึ่งในรัชกาลของพญากือนา ที่ได้โปรดฯ ให้ไปอาราธนาพระสุมนเถระที่กรุงสุโขทัยมาเผยแพร่ศาสนาในล้านนา จึงสันนิษฐานว่ามหาอำมาตย์ท่านนี้สร้างวัดนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ตนเอง

6. วัดหมื่นล้าน

กราบไหว้ เพื่อ '' มีเงินเป็นหมื่นล้าน ''

ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2005 ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองบัลลังก์ล้านนาประเทศ ในราชวงศ์มังราย ผู้สร้างวัดหมื่นล้านคือ “หมื่นโลกสามล้านขุนพลแก้ว” คู่บัลลังก์ของพระเจ้าติโลกราชซึ่งคนส่วนใหญ่รู้จักกันในนามของ “หมื่นด้ง” หรือ “หมื่นด้งนคร” เพื่อเป็นการสร้างกุศลอุทิศแก่แม่ทัพของอยุธยา ที่พ่ายในการทำสงครามจนต้องเสียชีวิตในสนามรบ ตลอดถึงอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่บรรดาแม่ทัพนายกกองของล้านนา

7.วัดชัยพระเกียรติ

กราบไหว้ เพื่อ '' มีชัยมีเกียรติ ''

วัดชัยพระเกียรติ เดิมชื่อวัดชัยผาเกียรติ เป็นพระอารามของนครเชียงใหม่มาแต่โบราณกาล ในรัชสมัยของพระเจ้าเมกุฏิ วิสุทธิวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ส่วนการสร้างวัดและพระประธานในวิหาร พระมหาเทวีจิระประภา ทรงสร้างเพื่อเป็นอนุสาวรีย์ถวายแด่ สมเด็จพระชัยราชาธิราช กษัตริย์ในวงศ์สุวรรณภูมิ ซึ่งปกครองกรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ.2081 ถึง พ.ศ.2088

8.วัดลอยเคราะห์

กราบไหว้ เพื่อ '' สะเดาะเคราะห์ ''

วัดลอยเคราะห์ เดิมชื่อว่า "วัดร้อยข้อ" (วัดฮ้อยข้อ) สร้างขึ้นในสมัยกษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย วัดนี้จึงมีอายุราว 500 ปี ในสมัยที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า วัดแห่งนี้ไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จึงมีสภาพทรุดโทรมมาก และกลายเป็นวัดร้างกว่า 20 ปี ต่อมาในสมัยพญากาวิละปกครองล้านนา พระองค์ทรงบูรณะซ่อมแซมวัดให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ พระองค์ทรงกวาดต้อนพลเมืองเชียงแสน และโปรดให้ชาวเชียงแสนตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ เวียงชั้นนอกด้านขวาของประตูท่าแพ ทางทิศตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบริเวณวัดลอยเคราะห์ในปัจจุบัน และมีศิลปะสถาปัตยกรรมเป็นแบบพื้นเมืองของชาวล้านนา มีพระพุทธรูปปางถวายเนตรและพระเจ้าทันใจประดิษฐานอยู่

9.วัดชัยมงคล

กราบไหว้ เพื่อ '' มีชัยชนะ ''


วัดชัยมงคล อยู่ริมแม่น้ำปิง สร้างราวสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์นครเชียงใหม่ ในสมัยที่เชียงใหม่ถูกพม่าปกครอง วัดนี้ถูกเรียกว่า "วัดอุปาเพ็ง" หรือ "วัดอุปาพอก" จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เปลี่ยนมาเรียกชื่อวัดนี้ว่าวัดชัยมงคล ลักษณะของเจดีย์วัดชัยมงคลเป็นศิลปะพม่า-มอญ