ไหว้พระเสริมดวง เสริมสร้างบารมี กับพระพุทธรูปเก่าแก่ คู่เมืองเชียงใหม่

1.พระพุทธสิหิงค์,วัดพระสิงห์
1 ใน 3 ของพระพุทธสิหิงค์ คู่บ้านคู่เมืองไทย คาดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.700 เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ที่ตกทอดมาหลายยุคหลายสมัย มีศิลปะแบบเชียงแสน ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ล่องน้ำปิงมาจากเชียงราย มาเทียบท่าที่ท่าเรือวังสิงห์คำ ปรากฎเหตุการณ์สุดอัศจรรย์ ท้องฟ้ากลายเป็นที่ทองอร่าม หรือที่ภาษาเหนือเรียกว่า ฟ้าฮ่าม ซึ่งปัจจุบันเป็นชื่อตำบลหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่ พระพุทธสิหิงค์ มีความงดงามอ่อนช้อย  ถ้าได้มากราบไหว้ ถือว่าเป็นศิริมงคลให้กับชีวิต โดยเฉพาะผู้ทีเกิดปีมะโรง


2.พระเสตังคมณี (พระแก้วขาว), วัดเชียงมั่น
กล่าวได้ว่านี่คือพระพุทธรูปคู่เมืองที่มีขนาดเล็กที่สุด หากก็มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่อย่างสำคัญที่สุดเช่นกัน


พระเสตังคมณี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำจากหินสีขาว (แร่ควอตซ์) ขนาดเล็กมาก โดยมีหน้าตักกว้างเพียง 10 เซนติเมตร และสูง 15.50 เซนติเมตร ประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น วัดแห่งแรกของเชียงใหม่ ตำนานกล่าวว่าพระเจ้ารามราช เจ้ากรุงละโว้ ร่วมกับพระกัสปเถระ ได้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นเมื่อราว พ.ศ.700 ก่อนที่พระนางจามเทวีจะทรงอัญเชิญมายังเมืองหริภุญชัย พร้อมกับที่พระนางเสด็จมาปกครองอาณาจักรแห่งนี้ หากเมื่อภายหลังพระญามังรายได้เข้ามายึดอาณาจักรหริภุญชัย ก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น ที่เชียงใหม่ พระเสตังคมณี จึงหาใช่แค่พระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดเท่านั้น หากยังเป็นพระพุทธรูปที่เชื่อมร้อยอารยธรรมหริภุญชัยเข้าด้วยกันกับล้านนาอีกด้วย

3.หลวงพ่อดับภัย , วัดดับภัย

"พระพุทธรูปดับภัย" (หลวงพ่อดับภัย) ซึ่งถือว่าเป็น พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่งของนครเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2238 (อายุราว 325 ปี) ทำด้วยทองสัมฤทธิ์มีขนาดหน้าตักกว้าง 12 นิ้ว สูงจากฐานถึงพระเมาลี 32 นิ้ว
สำหรับแนวคิดในการตั้งชื่อวัดว่า "วัดดับภัย" นั้นตั้งชื่อตามพระพุทธรูปคือ "หลวงพ่อดับภัย" เพราะเป็นชื่อมงคล ซึ่งแสดงถึงความเชื่อของชาวเชียงใหม่ ในความเป็นอนิจจังของชีวิต และการลดความ มีเคราะห์ร้ายโดยการปฏิบัติธรรรม



ประชาชนทั้งหลายเคารพบูชาในหลวงพ่อดับภัย ต่างก็ยึดถือเอาความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อดับภัย ที่ได้ให้ความเชื่อมั่นแก่พญาดับภัยที่ได้ประสบพบมา ต่างก็คลาดแคล้วจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานา เป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศ ผู้แสวงหาโชคลาภต่างก็มาขอมิได้ขาด และสมประสงค์ที่ตนตั้งไว้ไปตามๆกัน แม้กระทั่งนักนิยมเดินทางทำงานในทางที่เสี่ยงๆ จะต้องนำธูปเทียนมาขอพรจากหลวงพ่อดับภัยเสมอ เพื่อให้ปลอดภัยจากการเดินทาง

4.พระเจ้าฝนแสนห่า, วัดช่างแต้ม
พระเจ้าฝนแสนห่า เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัยเชียงแสนลังกา หน้าตักกว้าง 25 นิ้ว สูง 35 นิ้ว หนา 15 นิ้ว อายุประมาณ 1,000 กว่าปี จากตำนานเล่าว่าเป็นพระพุทธรูปที่พระเจ้าติโลกราชทรงอัญเชิญจากลำพูนมาประดิษฐาน ณ วัดช่างแต้ม


มีความเชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้จะช่วยดลบันดาลให้เกิดฝนตกลงมาช่วยคลายร้อนในยามแล้ง หรือทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทั้งนี้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญต่างๆ ของเชียงใหม่แห่ไปรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนร่วมสรงน้ำ ในจำนวนนั้นมีพระเจ้าฝนแสนห่าเข้าร่วมพิธีด้วย

5.พระอัฏฐารส, วัดเจดีย์หลวง
พระอัฏฐารส คือพระประธานของวัดเจดีย์หลวง เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย หล่อจากสำริด สูงราว 8 เมตร มีอัครสาวกทั้งสององค์ขนาบซ้ายและขวา ได้แก่ พระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร
พระอัฏฐารสของวัดเจดีย์หลวง มีประวัติการสร้างใน พ.ศ. 1950 โดยดำริของพระราชชนนีของพระเจ้าติโลกราช

โดยตั้งใจให้เป็นพระประธานของวัดที่ต่อมาจะกลายเป็นวัดสำคัญที่สุดวัดหนึ่งในรัชสมัยของพระราชโอรสของพระนาง พระพุทธรูปมีลักษณะทางพุทธศิลป์ที่อยู่ในศิลปะช่วงรอยต่อของพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่งกับอิทธิพลสุโขทัย ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 กล่าวคือมีพระพักตร์กลมป้อมแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง หากก็มีพระรัศมีเป็นเปลว สังฆาฏิ (ผ้าห่มซ้อนจีวร) ยาวมาจรดพระนาภี มีผ้าจีบหน้านาง และรัดประคด ตามแบบพระพุทธรูปสุโขทัยที่รับอิทธิพลต่อมาจากเขมร
พร้อมไปกับการเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่เมืองอีกองค์หนึ่ง พระอัฏฐารสยังเป็นงานพุทธศิลป์ที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบพระพุทธรูปล้านนาช่วงสุดท้ายก่อนจะเข้าสู่ยุคทองของล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 อีกด้วย

6.พระเจ้าเก้าตื้อ , วัดสวนดอก
เป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดสวนดอก หรือวัดบุบผาราม ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัดสำคัญของนครเชียงใหม่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามที่สุดในล้านนา คำว่า ตื้อ เป็นหน่วยวัดน้ำหนักโลหะของล้านนาในสมัยโบราณ ซึ่ง 1 ตื้อ เท่ากับ 1,000 กิโลกรัม (บางตำรากล่าวว่า 1 ตื้อ หนักเท่ากับ 1,200 กิโลกรัม)


พระเจ้าเก้าตื้อ หมายถึงพระพุทธรูปที่หล่อด้วยโลหะหนัก 9,000 กิโลกรัม หรือ 9 ตัน ในพงศาวดารโยนกกล่าวว่า พระเจ้าเมืองแก้ว หรือพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช หรืออีกพระนามหนึ่งคือ พระติลกปนัดดาธิราชกษัตริย์รัชกาลที่ 14 แห่งราชวงศ์มังราย ที่ครองอาณาจักรล้านนาได้โปรดให้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้น เพื่อเป็นประธานในวิหารพระสิงห์ โดยได้เริ่มทำการหล่อในปีพ.ศ. 2047-2048
อย่างไรก็ตามเนื่องจากองค์พระมีน้ำหนักมากเมื่อหล่อเสร็จไม้สามารถชะลอเข้าเมืองได้ พระองค์จึง
โปรดฯ ให้สร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐาน ณ บริเวณใกล้ๆ กับพระอารามวัดบุปผารามหรือวัดสวนดอก
ครั้นถึงปีพุทธศักราช 2052 จึงได้มีการชักพระพุทธปฏิมากรองค์นี้ เข้าประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถในวัดบุบผาราม

7.พระสัพพัญญูเจ้า, วัดเชียงยืน
พระสัพพัญญูเจ้า เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ ศิลปะเชียงแสน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นพระประธานของวัดเชียงยืน ซึ่งตั้งขึ้นอยู่ติดกับคูเมืองด้านนอก ใกล้กับแจ่งศรีภูมิ
ทั้งนี้วัดเชียงยืนเป็นพระอารามหลวงมีฐานะเป็นเดชเมืองเชียงใหม่ ตามคัมภีร์มหาทักษาที่ว่าการสร้างเมืองเชียงใหม่นั้นจะสร้างขึ้นในลักษณะการวางผังเมืองให้สอดคล้องกับชัยภูมิและความเชื่อทางโหราศาสตร์ ประกอบตามทิศทั้งแปดของแผนภูมินครฯ โดยเปรียบเมืองเชียงใหม่เป็นมนุษย์ กล่าวคือมีส่วนศีรษะ ลำตัว และขา ทำเลทางทิศอุดร (ทิศเหนือ) ของวัดเชียงยืนจึงเปรียบเหมือนศีรษะของเมืองเชียงใหม่

ทุกครั้งที่พระมหากษัตริย์ล้านนาเข้าและออกจากประตูเมืองเพื่อไปทำศึกสงครามหรือว่าราชการนอกกำแพงเมือง จะมีการทำการสักการบูชาพระสัพพัญญูเจ้าเดชเมืองที่วัดเชียงยืนทุกครั้ง เพื่อให้เกิดสิริมงคลในความยั่งยืน รวมทั้งการสร้างความมั่นใจอันที่จะประกอบกิจที่สำคัญในลุล่วงสำเร็จด้วยดี ในทางกลับกันเมื่อมีพระมหากษัตริย์หรือเจ้าเมืองจากแว่นแคว้นอื่นๆ เข้ามาในกำแพงเมืองล้านนาก็จะต้องมีการสักการะพระสัพพัญญูเจ้าก่อนเข้าเมืองทุกครั้งไป โดยจารีตนี้มีการสืบต่อกันมาหลายศตวรรษ

8.พระเจ้าแข้งคม, วัดศรีเกิด
พระเจ้าแข้งคม คือหนึ่งในพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งของล้านนา (หน้าตักกว้าง 2.32 เมตร สูง 3.65 เมตร) เป็นพระพุทธรูปที่พระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้างในปี พ.ศ. 2027 (อ้างอิงจากชินกาลมาลีปกรณ์) โดยให้ช่างหล่อสำริดด้วยทองหนักประมาณสามสิบสามแสนให้มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปลวปุระ หรือพระละโว้จากลพบุรี ครั้นหล่อเสร็จแล้ว ก็มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประมาณ 500 องค์ กับพระพุทธรูปแก้ว ทอง และเงิน จากหอพระธาตุส่วนพระองค์ มาบรรจุไว้ในพระเศียรพระพุทธรูปสัมฤทธิ์องค์ใหญ่

ลักษณะพิเศษของพระเจ้าแข้งคมที่มีความแตกต่างจากแบบแผนศิลปะล้านนา คือการมีหน้าแข้งที่เป็นสันคม พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระโอษฐ์หนา พระเนตรเปิดมองตรง ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก และมีพระรัศมีเป็นเปลวสูง ซึ่งนักโบราณคดีนำไปเปรียบเทียบกับพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 ที่มีอิทธิพลของศิลปะขอมแบบบายน สอดคล้องกับข้อความในตำนานที่พระเจ้าติโลกราชประสงค์จะให้ช่างสร้างพระพุทธรูปแบบละโว้
พระพุทธรูปกลุ่มนี้มีปรากฏในศิลปะล้านนาไม่มากนัก (แทบไม่ถึง 10 องค์) นี่จึงเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่หายากยิ่ง และยังเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าอาณาจักรล้านนามีการผสมผสานศิลปะจากดินแดนต่างๆ เข้ามาปรับใช้จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ที่มีความงามในแบบฉบับของตัวเองอีกด้วย

9.พระมหาอุปคุต, วัดอุปคุต
พระอุปคุตเป็นพระภิกษุองค์หนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช มีชื่อเสียงในการปราบมารผจญทั้งหลาย โดยชื่อ ‘อุปคุต’ แปลว่าผู้ปกป้องคุ้มครอง คนล้านนาเชื่อว่าพระอุปคุตมีด้วยกันทั้งหมด 8 องค์ ปรินิพพานไปแล้ว 7 องค์ คงเหลือจำพรรษาอยู่ในมหาสมุทร 1 องค์ ในวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ (วันเพ็ญพุธ หรือวันเป็งปุ๊ด) พระอุปคุตจะออกมาโปรดสัตว์โดนเนรมิตตนเป็นเณรน้อยมาบิณฑบาตตอนกลางคืน ชาวล้านนาจึงออกมาตักบาตรในวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธในช่วงเวลา 02.00-05.00 น.


ความที่พระมหาอุปคุตมีคุณสมบัติเป็นเลิศในทางป้องกันอันตราย คนล้านนาและในวัฒนธรรมร่วมอื่นๆ จึงประดิษฐ์พระพุทธรูปของพระองค์ท่าน เพื่อเป็นเครื่องรางเพื่อเคารพบูชา โดยทำจากวัสดุหลากหลาย ทั้งสำริด และไม้ลงชาดและปิดทอง
ตั้งอยู่เชิงสะพานนวรัฐฝั่งตะวันตก วัดอุปคุตคือวัดที่ประดิษฐานพระอุปคุต และเป็นสถานที่จัดงานเป็งปุ๊ดต่อเนื่องมายาวนาน เดิมทีวัดอุปคุตมีด้วยกันสองแห่ง คือวัดอุปคุตไทย (ที่ตั้งปัจจุบัน) และวัดอุปคุตพม่า ซึ่งตั้งอยู่ติดกัน หากปัจจุบันกลายมาเป็นที่ตั้งของพุทธสถานเชียงใหม่ ทั้งนี้พิธีตักบาตรเป็งปุ๊ดยังมีการจัดกันในวัดแห่งอื่นๆ อาทิ วัดสวนดอก, วัดศรีดอนมูล, วัดมิ่งเมือง (เชียงราย) รวมไปถึงวัดอื่นๆ ในภาคกลางด้วยเช่นกัน